การแข่งขันบาสเกตบอล

“บางแสนคลาสสิก” V.S. การแข่งขันบาสเกตบอล “กลุ่ม 10 ดาว”

ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในอันที่จะมีส่วนร่วมพัฒนากีฬาบาสเกตบอลระดับล่าง (grassroots level) อย่างเป็นระบบ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬากำลังดำเนินการจัดการแข่งขันบาสเกตบอลระดับนักเรียน 2 รายการ ดังนี้

“บางแสนคลาสสิก” (Bangsaen Classic)

“บางแสนคลาสสิก” อาจเรียกได้ว่า เป็นรายการแข่งขันบาสเกตบอลระดับนักเรียนชิงชนะเลิศแห่งภาคตะวันออก (9 จังหวัด) ทั้งประเภททีมชาย และหญิง ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องเป็นทีมที่ดีที่สุดของโรงเรียน (อายุไม่เกิน 18 ปี) จัดการแข่งขันมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2525 จนถึงปีการศึกษา 2544 จัดมาแล้ว 19 ครั้ง ในช่วงเวลา 18 ปีของการแข่งขัน มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันเฉลี่ยปีละ 20 ทีม (ทั้งชาย-หญิง) มีนักกีฬาบาสเกตบอลหมุนเวียนเข้ามาแข่งขันในรายการนี้ประมาณ 4,500 คน และเป็นที่น่ายินดีว่า มีนักกีฬาอย่างน้อย 16 คน ก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลระดับเยาวชนทีมชาติ และทีมชาติรวมถึงชุดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 13 – กรุงเทพฯ) ขณะนี้มีโรงเรียนที่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน (โรงเรียนบางแสนคลาสสิก) ประมาณ 60 โรงเรียน

การแข่งขันรายการนี้จะมีขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงปลายมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

การแข่งขันบาสเกตบอล “กลุ่ม 10 ดาว” (Ten Stars Conference)

อาจนับได้ว่าการแข่งขันรายการนี้เป็น “สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เป็นรูปธรรม” ของการแข่งขันบาสเกตบอลระดับล่าง ด้วยความเชื่อที่ว่าทีมชาติจะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีระบบตัวตายตัวแทนที่ดี นั่นคือ จะต้องมีระบบการพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ เข้าเสริมรุ่นพี่อย่างต่อเนื่องจริงจัง และขุมทรัพย์นี้อยู่ที่โรงเรียนมัธยมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถ้าจัดระบบในระดับนี้ให้ดี ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของวงการบาสเกตบอลในทวีปเอเชียได้อย่างแน่นอน ภายใต้แนวคิดนี้ จึงมีดำริที่จะสร้างประเพณีใหม่ของการแข่งขันบาสเกตบอลระดับนักเรียน ด้วยการนำบาสเกตบอลกลับไปแข่งขันที่โรงเรียน ซึ่ง ณ ชั่วโมงนี้ โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านสถานที่และองค์

ประกอบที่จะสนับสนุนต่าง ๆ บวกกับการคมนาคมและสื่อสารสะดวกขึ้น แต่การเริ่มโครงการใดก็ตามในระดับประเทศคงประสบความสำเร็จยาก เพราะต้องอาศัยทรัพยากรต่าง ๆ มาก ดังนั้นแนวคิดของ “การทำงานใหญ่” แต่ “เริ่มจากเล็ก ๆ” ก่อนแล้วขยายวงออกไปในอนาคตจึงเกิดขึ้น จึงมีดำริที่จะจัดโครงการแข่งขันแบบนำร่อง (Pilot Project) ขึ้นที่จังหวัดชลบุรีก่อน และตั้งชื่อรายการแข่งขันนี้ว่า การแข่งขันบาสเกตบอล “กลุ่ม 10 ดาว” – Ten Stars Conference โดยจัดแข่งขันประเภททีมชายขึ้นมาก่อน กลุ่มการแข่งขันนี้มีโรงเรียนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการ 10 โรงเรียน ซึ่งเป็นทีมที่มีประเพณีการแข่งขันบาสเกตบอลอยู่ในระดับ “ออกงานบ่อย” ของจังหวัด โรงเรียนดังกล่าว ได้แก่ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา โรงเรียนพนัสพิทยาคาร โรงเรียนบ้านบึง “อุตสาหกรรมนุเคราะห์” โรงเรียนดาราสมุทร โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” โรงเรียนสิงห์สมุทร และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี

การแข่งขันตามโครงการนี้ จะแตกต่างจากการแข่งขันเดิม ๆ ที่เป็นทัวร์นาเมนท์ (ประมาณ 1 สัปดาห์) และทีมที่เข้าแข่งขันต้องไปแข่ง ณ สถานที่เดียวกัน ซึ่งจบลงด้วยการไม่มีคนดู ไม่มีคนสนใจติดตาม แต่การแข่งขันในกลุ่ม 10 ดาว จะเป็นการแข่งขันระยะยาว ใช้เวลาประมาณ 10 สัปดาห์ โดยทีมที่เข้าแข่งขันในฐานะทีมเหย้าที่สนามขอตนเองต่อหน้าเพื่อนนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และประชาชนในพื้นที่ของตนเอง ทุกทีมจะต้องหมุนเวียนเดินทางไปแข่งขันในฐานะทีมเยือนกับทุกโรงเรียน สรุปก็คือ แข่งขันในฐานะทีมเหย้า 9 ครั้ง และในฐานะทีมเยือน 9 ครั้ง รวมทั้งสิ้นในรอบแรกจะแข่งขัน 18 แมทช์ จากนั้นทีมที่ได้อันดับ 1-4 จะเข้าไปแข่งขันในรอบรองชนะเลิศต่อไป รายการนี้นอกจากจะสร้างนักกีฬาและโค้ชแล้ว ยังจะเป็นรายการที่สร้างเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในการแข่งขันบาสเกตบอล และที่อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่กล่าวแล้วคือ การสร้าง “บรรยากาศและประเพณี” ของการแข่งขันบาสเกตบอลที่มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคี ความผูกพันกับทีมกับสถาบัน กับศิษย์เก่าและกับชุมชนโดยรวม ๆ

ปัจจุบันการจะทำการใดแต่ละครั้งก็อดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึง “เงิน” แต่แนวคิดของการแข่งขันบาสเกตบอล “กลุ่ม 10 ดาว” คือการจัดดำเนินการที่ต้องประหยัด ต้องเดินหน้าได้ แม้ไม่มีผู้สนับสนุนทางด้านค่าใช้จ่าย คนจัด คนแข่งอาจต้องเข้าเนื้อบ้าง แต่เพื่อเยาวชนและชาติบ้านเมือง เมื่องานเสร็จทุกคนจะหายเหนื่อยแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจว่า “เราได้เสียสละ”

โครงการนี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา มิได้ดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว แต่ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดชลบุรี ในการทำโครงการนี้ด้วยแน่นอน จะทำให้มีกำลังมากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เชิญบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาบาสเกตบอลระดับโลก เป็นที่ปรึกษาด้วยจึงทำให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี และสามารถเริ่มการแข่งขันได้ตามแผน คือ ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งถือเป็นปีแห่งความมงคล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนม์มายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ด้วย